วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560

โรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ (Flu หรือ Influenza) คือ โรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในส่วนของจมูก ลำคอ และปอด อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอหรือจาม แต่มีความรุนแรงและมีโอกาสพัฒนาสู่ภาวะแทรกซ้อนได้ เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดปี และระบาดในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝนที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี

influenza
ข้อแตกต่างเบื้องต้นของไข้หวัด (Cold) และไข้หวัดใหญ่ (Flu)
  • เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ผู้ป่วยจะค่อย ๆ แสดงอาการทีละน้อย แต่ไข้หวัดใหญ่จะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน มีไข้สูงและมีอาการรุนแรงกว่า
  • ไข้หวัดมักมีอาการแสดงทางระบบหายใจส่วนต้น คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ ส่วนไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูงเป็นลักษณะเด่น และผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อ่อนล้า
  • ผู้ป่วยไข้หวัดยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้แม้จะมีอาการป่วยรบกวนเป็นระยะ แต่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะรู้สึกเพลียมากกว่าต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ และควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาหากมีไข้สูงมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
ประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างสูง โดยรายงานล่าสุดจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึง 19 กันยายน 2559 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศรวม 99,894 คน โรคไข้หวัดใหญ่จึงเป็นหนึ่งในโรคเฝ้าระวังที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
ประเภทของไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ Influenza Virus โดยการติดเชื้อที่พบในมนุษย์ คือ สายพันธุ์ A, B และ C
ไวรัสชนิด A มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์พาหะมาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ทางการไอ จาม และอากาศหายใจที่มีเชื้อไวรัสกระจายอยู่ จึงสามารถแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง หรือระบาดไปทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
โครงสร้างของไวรัสชนิด A แตกต่างจากไวรัสชนิดอื่น คือ มีไกลโคโปรตีน 2 แบบ ได้แก่ Hemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) โดย HA มีหน้าที่จับกับตัวรับสารของเซลล์แล้วบุกรุกเซลล์ สร้างอนุภาคไวรัสขึ้นมาใหม่ เมื่อติดเชื้อแล้ว NA จะทำหน้าที่ส่งไวรัสที่สร้างขึ้นใหม่แพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่น ๆ
โปรตีน HA มีทั้งสิ้น 15 ชนิดย่อย และ NA มี 9 ชนิดย่อย สายพันธุ์ของไวรัสจึงถูกตั้งชื่อตามการจับตัวของโปรตีน อย่างสายพันธุ์ที่มีการระบาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น H1N1 (ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)
ไวรัสชนิด B มักแพร่ระบาดตามฤดูกาลที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อ อย่างฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu) อาจแพร่ระบาดได้ในระดับภูมิภาค
ไวรัสชนิด C เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง มีอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด
ไวรัสชนิด D เป็นการติดเชื้อที่พบเฉพาะในสัตว์ และยังไม่พบการติดเชื้อที่แพร่มาสู่คน
อาการของไข้หวัดใหญ่
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียหมดแรง ไอ จาม เจ็บคอ คออักเสบ บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย บางราย ผู้ป่วยมีอาการแสดงอย่างอื่น แต่ไม่มีไข้ และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นได้ด้วย ทั้งนี้อาการป่วยที่อาจเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับร่างกาย อายุ และโรคประจำตัวเดิมของแต่ละบุคคลด้วย
สาเหตุของไข้หวัดใหญ่
เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจากไวรัสกลุ่ม Influenza Virus ที่อาจแพร่กระจายอยู่ในอากาศ หรือเจือปนอยู่ในของเหลว คนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น นำมือที่สัมผัสกับเชื้อมาขยี้ตา สัมผัสน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อจากการใช้ช้อนหรือแก้วน้ำดื่มร่วมกัน
การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่
คนทั่วไปสามารถสังเกตว่าตนป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่หรือไม่ด้วยการสังเกตกลุ่มอาการที่ป่วย เช่น มีไข้สูง ตัวหนาวสั่น ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด คัดจมูก ปวดหัว อ่อนเพลียหรือไม่
ส่วนทางการแพทย์ การใช้ชุดทดสอบเพื่อตรวจเชื้อจะถูกนำมาใช้ต่อเมื่อแพทย์มีข้อสงสัยเป็นพิเศษหรือเมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคสายพันธุ์ที่รุนแรง ด้วยชุดตรวจ RIDTs (Rapid Influenza Diagnosis Test) การตรวจ DNA ของไวรัสแบบ RT-PCR (Reverse Transcription-Polymerase Chain Reaction) และ การตรวจหาไวรัสด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Fluorescent Antibody)
การรักษาไข้หวัดใหญ่
เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะจ่ายยาเพื่อรักษาตามอาการที่ป่วย หรือหากมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาได้ด้วยตนเองภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร เช่นยาลดไข้ ยาแก้หวัด เช็ดตัวลดไข้ และควรนอนหลับพักฟื้นให้เพียงพอ เพราะการป่วยไข้หวัดใหญ่จะทำให้ร่างกายอ่อนล้าและต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ
หากมีอาการที่น่าสงสัยหรือจัดอยู่ในผู้ป่วยสายพันธุ์อันตรายที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เพื่อรับยาต้านไวรัสป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส
ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่อาจเป็นเหตุให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะร่างกายขาดน้ำ การติดเชื้อในหู การติดเชื้อที่ไซนัส หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบ ปัญหาที่ระบบประสาทส่วนกลาง กล้ามเนื้ออักเสบ หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน และมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่า
นอกจากนั้น อาการของไข้หวัดใหญ่ยังเป็นเหตุทำให้อาการป่วยโรคอื่นที่เป็นอยู่ก่อนหน้าทรุดหนักลง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด และโรคหัวใจ
การป้องกันไข้หวัดใหญ่
ในปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันไวรัสที่สามารถฉีดได้ปีละครั้ง แต่ไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ทุกชนิด รวมถึงมียาต้านไวรัสที่ได้รับการแนะนำให้ใช้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย และสุขอนามัยในการใช้ชีวิต ก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน

อาการของ ไข้หวัดใหญ่

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง


อาการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะเกิดกับระบบหายใจ ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงร่วมกับอาการหวัด ไอ จาม และเจ็บคอ แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจไม่มีไข้ และในบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
  • มีไข้สูงที่ประมาณ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ปวดหัว
  • ตัวหนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อแขนและขา
  • อ่อนเพลียหมดแรง
  • คัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะ
  • ไอแห้ง จาม หรือไอแบบมีเสมหะ
  • เจ็บคอ คออักเสบ
  • คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง
  • ไม่อยากอาหาร
  • นอนไม่หลับ ไม่สบายตัว
โดยทั่วไป การป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น หากได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ร่างกายจะหายดีกลับมาเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน หรือมีอาการป่วยมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่นอาการดังต่อไปนี้
ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
  • หายใจเร็วหรือมีปัญหาในการหายใจ
  • เรียกไม่ตื่น ไม่รู้ตัว ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง
  • กระสับกระส่าย
  • ดื่มนมหรือน้ำได้ลดลงกว่าปกติมาก
  • อาการไข้หวัดทุเลาลง แต่กลับมาเป็นอีกครั้ง โดยมีอาการป่วยรุนแรงกว่าเดิม
  • มีไข้ร่วมกับมีผดผื่นคัน
  • มีอาการแพ้ที่ผู้ป่วยไม่เคยเป็นมาก่อน
ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่
  • หายใจติดขัด หายใจลำบาก หายใจช่วงสั้น ๆ
  • เจ็บปวดหรือแน่นหน้าอกและช่วงท้อง
  • เวียนหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • อาเจียนบ่อย ๆ
  • อาการไข้หวัดรุนแรงและไม่ทุเลาลง
โดยผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังการเกิดอาการแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กแรกเกิด ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในระหว่างรักษาตัวเป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

สาเหตุของ ไข้หวัดใหญ่


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สาเหตุไข้หวัดใหญ่

สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสกลุ่ม Influenza Virus ผ่านทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ การรับของเหลวที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ผ่านการกิน การดื่ม หรือการสัมผัสเชื้อเข้าสู่เนื้อเยื่อร่างกายโดยตรงทางเลือด น้ำเหลือง น้ำหล่อลื่นที่ดวงตา
ทั้งนี้ การติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ไวรัสด้วย บางสายพันธุ์สามารถติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นที่เป็นพาหะสู่คนได้ด้วย โดยเฉพาะปศุสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่มีความใกล้ชิดกับคน ไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์จึงมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในหมู่ปศุสัตว์และเกษตรกรค่อนข้างสูง

การวินิจฉัย ไข้หวัดใหญ่

การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำได้ดังนี้
การวินิจฉัยด้วยตนเอง สังเกตอาการส่วนใหญ่ที่เป็น เช่น การมีไข้สูง หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด คัดจมูก ปวดหัว อ่อนเพลีย
การวินิจฉัยโดยแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจดูอาการที่ป่วย เพื่อรักษาตามอาการ ส่วนการตรวจหาเชื้อไวรัสและวิเคราะห์ผลทางแล็บ จะถูกนำมาใช้ต่อเมื่อมีข้อสงสัยหรือเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ใช้ชุดทดสอบ Rapid Influenza Diagnosis Tests (RIDTs) โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างเชื้อจากน้ำมูกในจมูกหรือเสมหะในลำคอไปตรวจ เป็นวิธีที่ทำให้ทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็วภายใน 30 นาที แต่วิธีการนี้ไม่สามารถตรวจพบไวรัสที่มีความเข้มข้นต่ำ และสามารถแยกไวรัสได้เพียงชนิด A และ B เท่านั้น ในบางครั้งผู้ป่วยจึงยังติดเชื้อแม้จะมีผลตรวจออกมาเป็นลบก็ตาม
การตรวจเพาะเชื้อไวรัสแบบ RT-PCR (Reverse Transcription-Polymerase Chain Reaction) เป็นการตรวจเพื่อยืนยัน ใช้เวลารอผลเพาะเชื้อประมาณ 3-7 วัน โดยเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูกหรือในลำคอของผู้ป่วยที่ยังตรวจไม่พบเชื้อในกรณีใช้ชุดทดสอบแบบแรก แต่ยังสงสัยว่าได้รับเชื้อจริงหรือจำเป็นต้องได้รับการยืนยันที่แน่นอนเพื่อรับการรักษา
อีกวิธีคือการตรวจ Fluorescent Antibody เป็นการตรวจหาแอนติเจนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์ หากพบจุลชีพของไวรัส จะมองเห็นเป็นจุดเรืองแสง

การรักษา ไข้หวัดใหญ่

หากไม่มีอาการป่วยที่รุนแรง ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สามารถใช้ยารักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) กินเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว
ยาลดน้ำมูก (Decongestant) บรรเทาอาการบวมและอักเสบของหลอดเลือดในจมูก ลดอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหล
ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ออกฤทธิ์ลดสารฮิสตามีนที่ก่อให้เกิดการอักเสบและอาการแพ้ ใช้รักษาอาการจาม คันจมูก หรือน้ำตาไหล
ยาต้านไวรัส ในประเทศไทยใช้โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) ออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ภายในร่างกาย ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น โดยแพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัสสำหรับรับประทานประมาณ 5 วัน
ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ สามารถใช้รักษาผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ส่วนยาซานามิเวียร์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยอายุ 7 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ก็สามารถรับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านไวรัสต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ควรรีบแจ้งแพทย์และเข้ารับการรักษาต่อไป การใช้ยาต้านไวรัสอาจส่งผลข้างเคียงตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ท้องร่วง เป็นต้น
แพทย์ไม่แนะนำให้รับประทานยาทามิฟูล (Tamiflu) โดยที่ไม่มีอาการไข้ หรือมีไข้แต่ไม่รุนแรง เพราะจะทำให้ดื้อยา และเกิดอาการข้างเคียงคือจะเกิดภาพหลอน ซึ่งการได้รับยาชนิดนี้ ต้องรอให้แพทย์สั่งเท่านั้น
ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนอย่างปอดอักเสบจากเชื้อรา แต่ไม่มีผลต่อการรักษาไวรัสโดยตรง
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือ ผู้ป่วยควรนอนหลับพักฟื้นร่างกายให้เต็มที่ ควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพราะอาการไข้ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และงดการออกไปในที่สาธารณะ เพื่อลดการแพร่เชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนของ ไข้หวัดใหญ่

อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นผลมาจากหลายปัจจัย แต่ที่แยกได้ชัดเจนคือ สภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้มีความเสี่ยงในการพัฒนาโรคแตกต่างกัน
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นได้ง่าย คือ เด็กแรกเกิด ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในระหว่างรักษาตัวเป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
ส่วนผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง นอกจากจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนขณะป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะส่งผลให้อาการของโรคเดิมทรุดหนักลง เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคทางกล้ามเนื้อประสาท โรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจ
อาการแทรกซ้อนที่พบจากการป่วยไข้หวัดใหญ่ ได้แก่  หายใจเร็ว หายใจช่วงสั้น ๆ มีปัญหาในการหายใจ เรียกไม่ตื่น ไม่รู้ตัว ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง อาการไข้หวัดทุเลาลง แต่กลับมาเป็นอีกครั้ง โดยมีอาการป่วยรุนแรงกว่าเดิม เจ็บปวดหรือแน่นหน้าอกและช่วงท้อง เวียนหัวเฉียบพลัน ครั่นเนื้อครั่นตัว อาเจียนบ่อย ๆ ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นเด็ก ต้องสังเกตและเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน เช่น กินอาหารไม่ได้ ดื่มน้ำน้อย ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลง มีไข้ร่วมกับมีผดผื่นคัน มีอาการแพ้ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นต้น
ส่วนโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ การติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อในหูและไซนัส หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวาย นอกจากนี้ ยังมีโรคแทรกซ้อนบางโรคที่พบในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่พบได้น้อย คือ ต่อมทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ และไข้ชัก

การป้องกัน ไข้หวัดใหญ่

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำได้ดังนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การป้องกันไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ - มีประสิทธิภาพทางการป้องกันไวรัส แต่ไม่สามารถป้องกันครอบคลุมไวรัสได้ครบทุกสายพันธุ์ และสามารถป้องกันการป่วยจากไวรัสได้ประมาณ 50-60% การฉีดวัคซีนจะเริ่มส่งผลป้องกันไวรัสได้ภายหลังรับวัคซีนไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ สามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และฉีดได้ปีละครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนนี้ คือ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นเอื้อต่อการแพร่ระบาดของไวรัส หรือช่วงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของโรค
ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะและความแข็งแรงของผู้ที่รับวัคซีนและชนิดของไวรัสที่ร่างกายได้รับเชื้อเข้ามา แม้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันในแต่ละปี แต่ก็ไม่สามารถป้องกันครอบคลุมไวรัสที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปีได้ทั้งหมด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดไวรัสได้ง่าย ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษาตัวเป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่อาศัยอยู่หรือต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส
ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลได้ทุกปีเช่นกัน หรือในช่วงที่กำลังมีการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่
ยาต้านไวรัส - นอกจากจะใช้ในการรักษาแล้ว ยาต้านไวรัสยังมีผลในทางป้องกัน คือ ช่วยป้องกันการกระจายตัวของเชื้อไวรัสภายในร่างกาย และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา
ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์สามารถใช้ในทางป้องกันในผู้ที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป ส่วนยาซานามิเวียร์ใช้ในทางป้องกันในผู้ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป
มีสุขอนามัยที่ดี - รักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ ใส่ใจรายละเอียดเรื่องความสะอาดปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เช่น ล้างมือถูสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ใช้ผ้าปิดปากเวลาไอหรือจาม ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเมื่อกลับจากการเดินทาง เป็นต้น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ - ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่มีโปรตีน อย่างพวกเนื้อปลา สัตว์ปีก ไข่ ถั่ว และเมล็ดพันธุ์พืช และอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินที่จำเป็นในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างวิตามินบี 6 ที่พบได้มากในหัวมัน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าว และวิตามินบี 12 ที่พบได้มากในเนื้อสัตว์ ตับ ปลา และนม
พักผ่อนอย่างเพียงพอ - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของแต่ละช่วงวัย เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะลดต่ำลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
ออกกำลังกาย - การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ ทั้งยังเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีได้ด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที
อย่างไรก็ดี ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เพราะการออกกำลังอย่างหักโหมหรือใช้เวลานานเกินไปอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม โดยจะเป็นการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดมากเกินไป อย่างอะดรีนาลินและคอติซอล ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็ง ใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น
แต่หากกำลังป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ควรงดเว้นการออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายให้น้อยลง เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ อาจทำให้อาการป่วยทรุดลงจนฟื้นตัวได้ช้า

2 ความคิดเห็น:

  1. Lucky Club Casino Sites 2021 | Lucky Club Login
    The world's largest and best in online casino software offering top games and top games. Register your account and place your 카지노사이트luckclub bets now!✓ Lucky Club Login.

    ตอบลบ
  2. Casino Junket Casino | Dr.MD
    Casino Junket Casino. Dr.Mcd locations, 충주 출장샵 phone number, hours, gaming options, 동해 출장안마 gaming, gambling and 군산 출장샵 fun! 충청남도 출장안마 We 서울특별 출장샵 provide gambling entertainment, food & drinks

    ตอบลบ